วันอังคารที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2554

กฎหมายเอกชน


 กฎหมายเอกชน คือ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกัน เป็นกฎหมายที่กำหนดถึงสิทธิทางแพ่งอันเป็นสิทธิทางกฎหมายที่เอกชนคนใดคนหนึ่งจะใช้ยันกับเอกชนคนอื่นได้ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในครอบครัว ระหว่างสามีกับภรรยา บิดามารดากับบุตร หรือกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนด้วยกันเอง เช่น การแลกเปลี่ยนผลผลิตและบริการระหว่างเอกชน เช่น การทำสัญญาในรูปแบบต่าง ๆ

   กฎหมายเอกชนมีความแตกต่างกับกฎหมายมหาชนคือ กฎหมายมหาชน เป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานรัฐกับราษฎร ในฐานะที่รัฐเป็นฝ่ายปกครองก็จำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายมากำหนดความประพฤติของราษฎรในรัฐให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้อยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความปกติสุข กฎหมายมหาชนแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายปกครอง กฎหมายอาญา กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม เป็นต้น

   ประเภทของกฎหมายเอกชน
กฎหมายเอกชนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. กฎหมายแพ่ง เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ของบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย เช่น กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล ทรัพย์ นิติกรรม สัญญา หนี้ ครอบครัว มรดก เป็นต้น

2. กฎหมายพาณิชย์ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำสัญญาทางการค้าหรือการประกอบธุรกิจ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการซื้อขาย เช่าทรัพย์ ตั๋วเงิน หุ้นส่วน บริษัท ฯลฯ เป็นต้น

     ในบางประเทศได้มีการแยกกฎหมายพาณิชย์ออกจากกฎหมายแพ่ง เช่น ในประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศส เพราะต้องการให้มีความคล่องตัวในการดำเนินการในทางพาณิชย์ และเพื่อที่จะได้มีบทบังคับ และหลักเกณฑ์แยกต่างหากไปจากกฎหมายของเอกชนทั่ว ๆ ไป แต่สำหรับประเทศไทยเราได้มีการรวมเอากฎหมายแพ่งและกฎหมายพาณิชย์ไว้ด้วยกัน เรียกว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

     ข้อสังเกต สำหรับกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น มีนักกฎหมายได้ให้ความเห็นไว้ 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายแรกได้ให้ความเห็นว่าควรจะจัดเป็นกฎหมายเอกชน โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้นเป็นเรื่องที่เอกชนใช้สิทธิทางศาลเพื่อบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ในกรณีที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแพ่งหรือกฎหมายพาณิชย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่โต้แย้งกันเอง

   ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่ากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งนั้น เป็นเรื่องที่คู่ความมายื่นคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาล เพื่อให้ศาลบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย คือ อาจจะมีการโต้แย้งสิทธิกัน ซึ่งจะบังคับกันเองไม่ได้ ก็มาให้ศาลเป็นคนบังคับ หรืออาจจะเป็นกรณีให้ศาลมีคำสั่งในคดีที่ไม่มีข้อพิพาท จึงเป็นเรื่องที่ศาลซึ่งเป็นองค์กรของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐเข้าไปมีส่วนสัมพันธ์กับราษฎรซึ่งเป็นคู่ความ ดังนั้นจึงควรจัดเป็นกฎหมายมหาชน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น