วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

ความเป็นนิติบุคคลของรัฐ

ความเป็นนิติบุคคลของรัฐ                    

      กฎหมายมหาชนได้สร้างแนวความคิดเรื่องการแยกตัวบุคคลของรัฐออกจากตัวบุคคลธรรมดาที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ใช้อำนาจ  ในแนวความคิดเช่นนี้ รัฐหรือองค์กรที่ถือผลประโยชน์ส่วนรวม ย่อมมีจุดมุ่งหมายที่แน่นนอนภายใต้กรอบของกฎหมาย ที่เป็นเหมือนกฎกติกาที่สังคมสร้างขึ้น เมื่อใดก็ตามที่การใช้อำนาจของรัฐไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมาย ก็จะมีระบบการตรวจสอบควบคุมที่ทำให้ผู้ใช้อำนาจจะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไข นอกจากนี้การแยกสภาพบุคคลของรัฐออกต่างหารจากปัจเจกบุคคลที่ใช้อำนาจยังทำให้เห็นความต่อเนื่องของการกระทำหรือเจตนาของรัฐที่สามารถผูกพันรัฐและบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ขาดตอน ไม่สูญสลาย จนทำให้สังคมไม่มีระเบียบหรือกฎเกณฑ์ที่แน่นอน

                ในระบบงานของรัฐ ภายใต้กฎหมายจึงมีการจัดระเบียบ กำหนดขั้นตอนและสภาพบังคับต่างๆ เพื่อให้เห็นว่าบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้ใช้อำนาจสาธารณะในนามของรัฐจะต้องใช้อำนาจไปตามระเบียบกฎเกณฑ์ เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบกฎหมายที่แสดงถึงความมีสภาพบุคคลของรัฐ เปรียบเสมือนกับการที่ผู้มีตำแหน่งในนิติบุคคลของเอกชน ย่อมจะต้องทำหน้าที่ไปตามขอบวัตถุประสงค์ นอกจากไม่ผูกพันรัฐและบุคคลที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีกระบวนการเพิกถอน เปลี่ยนแปลงแก้ไข  ความซับซ้อนในระบบการบริหารงานของรัฐ ทำให้ในบางประเทศจำเป็นต้องมีกฎหมายกำหนดสภาพบุคคลให้กับองค์กรของรัฐมากหรือน้อย เช่นในระบบกฎหมายของไทย ถือว่านิติบุคคลเกิดขึ้นได้โดยกฎหมาย จึงกำหนดให้ส่วนราชการ องค์กรและหน่วยงานของรัฐที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคลเท่านั้นที่มีสภาพบุคคล  ในขณะที่บางประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ ถือว่ารัฐมีสภาพบุคคลในทางกฎหมายมหาชน โดยไม่ต้องมีกฎหมายรองรับ ส่วนจะมีหน่วยงานใดมีสภาพบุคคลแยกต่างหาก เป็นข้อยกเว้น